วัยเก๋าที่ใกล้เกษียณ เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้นะ!!
สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่มีอายุตัวตั้งแต่ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิก PVD มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน เรียกสั้นๆ ว่า “ครบเงื่อนไข 55 +5” บอกเลยว่า “เงิน PVD ทั้งก้อนไม่ต้องเสียภาษี” แล้วเงินก้อนโตที่ได้รับจาก PVD นอกจากจะรับเงินออกไปเลยนั้น เรามีทางเลือกอะไรจาก PVD ได้อีกล่ะ แนะนำ 2 ทางเลือก คือ
1. คงเงินไว้ใน PVD
การคงเงินไว้ใน PVD เหมาะกับคนที่ไม่รีบร้อนใช้เงิน ณ วันเกษียณ ซึ่งข้อดีของการคงเงิน คือ
- เงินที่คงไว้ใน PVD ยังถูกนำไปลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยทีมผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ทำให้เกิดดอกผลงอกเงยอย่างสม่ำเสมอ
- หากเรามีการแบ่งเงิน PVD ไปลงทุนในหุ้น แล้ววันที่เกษียณ ตลาดหุ้นเกิดผันผวน ส่งผลให้เงินกองทุนและผลประโยชน์จากการลงทุนน้อยลงหรือไม่เป็นไปตามที่เราตั้งเป้าไว้ เราสามารถคงเงินไว้เพื่อรอให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นแล้วค่อยนำเงิน PVD ออกมาใช้
- รายได้จากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษี ต่างจากถ้าเรานำเงินไปลงทุนเอง แค่ดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี 15% แล้ว
เงื่อนไขการคงเงิน
– สมาชิก PVD สามารถคงเงินได้ตามระยะเวลาที่กองทุนกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนบริษัท
– ค่าธรรมเนียมในการคงเงินปีละ 500 บาท
– ไม่สามารถจ่ายเงินสะสมเพิ่มได้
2. รับเงินเป็นงวดจาก PVD
การรับเงินจาก PVD เป็นงวด เป็นการทยอยแบ่งเงิน PVD ออกมาใช้คล้ายๆ กับการรับบำนาญ แต่จะทยอยรับจนกว่าเงินจะหมด หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เงินเดือนจากเงินเก็บ” ของเรานั่นเองเหมาะกับคนที่ต้องการค่อยๆ ทยอยใช้เงินแบบสบายๆ ซึ่งการรับเงินเป็นงวดมีข้อดี คือ
- สามารถทยอยรับเงิน PVD เป็นงวด สามารถระบุจำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่องวดตามที่ต้องการได้
- ได้ผลประโยชน์งอกเงยจากการลงทุนและรายได้จากการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเช่นเดียวกับการคงเงิน
สมาชิก PVD ที่ขอรับเงินเป็นงวดมีค่าธรรมเนียมการรับเงินเป็นงวดครั้งแรก 500 บาท และค่าธรรมเนียมการรับเงินรายงวดๆ ละ 100 บาท โดยจำนวนเงินที่สมาชิกได้รับเข้าบัญชีในแต่ละงวดจะเป็นเงินที่หักค่าธรรมเนียมรายงวดและค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคารแล้ว
หากต้องการคงเงินหรือรับเงินเป็นงวด ต้องทำอย่างไร?
สมาชิกต้องแจ้งความประสงค์ผ่านนายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนล่วงหน้าก่อนวันที่ตนเองจะเกษียณ เพื่อให้นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนส่งแบบฟอร์มการขอคงเงินหรือรับเงินเป็นงวดมาพร้อมกับเอกสารการแจ้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ และบริษัทจัดการสามารถทำรายการได้ตรงตามความต้องการของสมาชิก
ต้องการยกเลิกการคงเงินหรือรับเงินเป็นงวดต้องดำเนินการอย่างไร?
สมาชิกแจ้งและนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับบริษัทจัดการโดยตรง ตามเงื่อนไขที่บริษัทจัดการกำหนด จากนั้น บริษัทจัดการก็จะดำเนินการโอนเงิน PVD ที่เหลืออยู่ในกองทุนเข้าบัญชีธนาคาร หรือออกเช็คตามที่สมาชิกได้แจ้งไว้
*ชื่อบัญชีต้องเป็นใช้ชื่อบัญชีของสมาชิกเท่านั้น
สำหรับคนที่เกษียณอายุ แต่ยังไม่ครบเงื่อนไข 55 + 5 แนะนำให้คงเงินไว้ในกองทุนจนครบเงื่อนไขเพื่อให้เงิน PVD ได้รับการยกเว้นภาษี หลังจากครบเงื่อนไขแล้วก็ค่อยตัดสินใจว่าจะคงเงินต่อ หรือเปลี่ยนไปรับเงินเป็นงวดหรือรับเงินทั้งก้อนแทน
“ทุกคนสามารถเลือกมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขได้ เพียงแค่เรารู้จักวางแผนการใช้ชีวิตอย่างสมาร์ท เราก็จะมีชีวิตที่มั่นคงมั่งคั่งทั้งในปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ”
เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO คลิก https://goo.gl/HKbuw4 #TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement #Smartsaving #FreedombyTISCOPVD #PVDmember