วางแผนภาษีให้ดี มีเงินออมเพิ่มอีกเยอะ

วางแผนภาษีให้ดี มีเงินออมเพิ่มอีกเยอะ
เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก็จะสิ้นปีแล้ว มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ไม่ควรพลาดการลงทุนในกองทุนและซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี เพราะนอกจากจะทำให้เรามีเงินเก็บก้อนโตแล้ว ยังช่วยลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีลงอีกด้วย มาดูกันครับว่าตัวช่วยลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง
กองทุนลดหย่อนภาษี

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
PVD ตัวช่วยหลักให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ มีเงินเก็บก้อนโต ซึ่งสมาชิกกองทุนจะสะสมเงินเข้า PVD ทันทีทุกครั้งที่เงินเดือนออก และมีนายจ้างช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนให้อีกด้วย สำหรับสิทธิในการลดหย่อนภาษีนั้น สมาชิกสามารถนำเงินสะสมมาหักลดหย่อนภาษีสูงสุด 15% ของค่าจ้าง*และไม่เกินปีละ 500,000 บาท
2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
RMF เป็นกองทุนทางเลือกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนไทยออมเงินแบบระยะยาวเพื่อการเกษียณ โดยเงินที่ลงทุนใน RMF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน** ในปีนั้น และไม่เกินปีละ 500,000 บาท
3. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
SSF เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว โดยเงินที่ลงทุนใน SSF นั้น สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน** ในปีนั้น และไม่เกินปีละ 200,000 บาท
4. กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
Thai ESG เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาว และมีเป้าหมายลงทุนในบริษัทที่มีแนวคิดการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนที่มีการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” โดยเงินลงทุนใน Thai ESG สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน** ในปีนั้น และไม่เกินปีละ 100,000 บาท
ทั้งนี้ เงินลงทุนใน PVD RMF SSF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.). และประกันบำนาญ รวมกันแล้วลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินปีละ 500,000 บาท ในขณะที่วงเงินลงทุนของ Thai ESG ที่ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เป็นวงเงินที่แยกต่างหากจากกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
หมายเหตุ : *ค่าจ้าง หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนการทำงาน เช่น เงินเดือน แต่ไม่รวมโบนัสและค่าล่วงเวลา
** เงินได้พึงประเมิน หมายถึง เงินได้ที่ต้องเสียภาษีทุกประเภท
ประกันลดหย่อนภาษี

1. ประกันชีวิต
การทำประกันชีวิตเป็นการสร้างความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันหรือครอบครัวของผู้เอาประกัน โดยในกรณีที่ผู้เอาประกันทุพพลภาพหรือเสียชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ นอกจากนี้ ถ้าเป็นประกันประเภทสะสมทรัพย์จะถือเป็นการออมเงินอีกด้วย ทั้งนี้ ค่าเบี้ยประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท
2. ประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพเป็นประกันอีกแบบที่คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย โดยผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพ สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละไม่เกิน 25,000 บาท
3. ประกันบำนาญ
ประกันบำนาญเป็นประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองรายได้ของผู้เอาประกันในช่วงหลังเกษียนอายุ เหมาะกับคนที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอหลังเกษียณ ทั้งนี้ ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้นสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกินปีละ 200,000 บาท
โดยเบี้ยประกันชีวิตรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ กรณีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตไม่ครบ 100,000 บาท และมีการซื้อประกันบำนาญเกิน 200,000 บาท (ไม่เกิน 15% ของรายได้) สามารถนำเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนในวงเงินของประกันชีวิตจนเต็มก่อน ส่วนที่เหลือให้นำมาลดหย่อนในวงเงินประกันชีวิตแบบบำนาญต่อได้อีก
ทั้งนี้ เบี้ยประกันบำนาญ รวมกับเงินลงทุนใน PVD RMF SSF กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และ กอช. จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน การวางแผนเกษียณ ได้ที่ TISCO Smart Retirement
#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement #FreedombyTISCOPVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #กองทุนเลี้ยงชีพ #PVD
Line Official : @TISCOASSET
Youtube Channel : TISCO Fun(d) Station
Facebook Fanpage : TISCO Asset Management