
การกลับมาของนาย Donald Trump ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง (Trump 2.0)นำมาซึ่งความหวังในวงกว้าง สะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2024 เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่านโยบายของนาย Donald Trump จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่นเดียวกับในสมัยแรก
โดยแนวคิด America First ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นหลัก ยังคงเป็นแกนหลักของนโยบายของนาย Donald Trump ตั้งแต่สมัยแรกที่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Trump 1.0) ในช่วงปี 2017-2021 แต่การดำเนินนโยบายใน Trump 2.0 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจ, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed, และความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป
บทความนี้เราจะย้อนรอย 100 วันแรกของ Trump 1.0 ทั้งในส่วนของนโยบายการค้า, นโยบายและมาตรการลดภาษี (Tax Cuts and Jobs Act), และตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสินทรัพย์อื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ Trump 2.0 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และส่งผลต่อตลาดหุ้นมากน้อยแค่ไหนในอดีต
นโยบายการค้า
Trump 1.0 (2017)
นาย Donald Trump เริ่มต้นนโยบายการค้าอย่างชัดเจนด้วยการถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งการถอนตัวในครั้งนั้นทำให้สหรัฐฯ เสียโอกาสการเข้าถึงตลาดใหญ่ในเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศตามนโยบายหาเสียงไว้ นอกจากนี้ นาย Donald Trump ได้มีการทบทวนข้อตกลง NAFTA กับแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อปรับโครงสร้างการค้าให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
Trump 2.0 (2025)
สำหรับในปี 2025 นาย Donald Trump ได้ลงนามคำสั่งบริหารจำนวนมากในวันแรกของการดำรงตำแหน่ง อาทิ นโยบายการค้า America First Trade Policy และการชะลอแผนการยกเลิก TikTok ในสหรัฐฯ ไป 75 วัน เพื่อจัดการกับนโยบายการค้าที่ไม่สมดุล รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารเชิงรุกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ Trump 1.0
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับหลายประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน ,แคนาดา, และเม็กซิโก โดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ราว 10%-25% ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทสินค้าและประเทศ โดยเริ่มจากการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนที่อัตราเริ่มต้นที่ 10% แต่สหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนกำหนดการการปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโกและแคนาดาออกไปหลังมีการเจรจาเบื้องต้น และภายหลังจากวันที่ 4 มี.ค. สหรัฐฯ ก็ได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% พร้อมกับปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 20%(เดิม 10%) ซึ่งผลกระทบดังกล่าวสะท้อนไปยังมุมมองนักลงทุนที่เริ่มกังวลว่าสงครามการค้าจะทำให้เศรษฐกิจแถบอเมริกาเหนือเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
นโยบายและมาตรการลดภาษี (Tax Cuts and Jobs Act)
Trump 1.0 (2017)
นาย Donald Trump ได้เสนอการลดภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายการคลังที่ขยายตัว เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และคาดหวังจะเพิ่มรายได้ภาษีในระยะยาวและลดการขาดดุล อย่างไรก็ดี การขาดดุลของ Trump 1.0 ในปี 2017 เริ่มต้นด้วยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ราว $665 billion หรือคิดเป็นราว 3.7% ของ GDP ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายและการใช้จ่ายภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Obama
โดยนโยบายและมาตรลดภาษีของ Trump 1.0 ทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นและการปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนั้นยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
Trump 2.0 (2025)
Trump 2.0 ในปี 2025 นาย Donald Trump ต้องเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณในระดับสูง โดยเริ่มต้นปีงบประมาณ 2025 ใน 5 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ราว $ 1.14 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นราว 4.3% ของ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับ Trump 1.0 ขณะที่อัตราดอกเบี้ย Fed ปัจจุบันอยู่ที่ระดับสูงถึง 4.25%-4.50% ซึ่งทำให้ภาระดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก กลายเป็นรายจ่ายหลักของรัฐบาลกลาง และสร้างข้อจำกัดสำคัญต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
รัฐบาลชุดใหม่ยังไม่มีการดำเนินการนโยบายและมาตรการลดภาษีอย่างเป็นทางการ แต่มีแผนที่จะขยายเวลาบังคับใช้มาตรการที่จะหมดอายุในปี 2025 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางภาษี อีกทั้ง นาย Donald Trump ก็ได้ออกแผนเสนอเพิ่มเติม โดยเตรียมที่จะลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 20% หรือ 15% สำหรับบริษัทที่ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ แต่อาจมีผลต่อการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในระยะยาว เนื่องจากมีการขาดดุลที่สูงอยู่แล้วในปัจจุบัน
ตลาดหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ
Trump 1.0 (2017)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดปรากฏการณ์ “Trump Bump” ในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Trump 1.0 เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่านโยบายการลดกฏระเบียบและการลดภาษีของนาย Donald Trump จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี ได้แก่ กลุ่ม Industrials, Financials, Healthcare, และ Utilities เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดกฏระเบียบและภาษีของนาย Donald Trump
อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายของ 100 วันแรกของ Trump 1.0 เริ่มผันผวนเนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันหลายด้าน เนื่องจากนโยบายของนาย Donald Trump มีทั้งความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
Trump 2.0 (2025)
ราคา Bitcoin พุ่งขึ้นสูงเกิน $100,000 หลังชัยชนะของนาย Donald Trump โดยได้รับแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรม Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด นาย Donald Trump ได้มีการลงนามคำสั่งบริหารจัดตั้งคลังสำรอง Bitcoin และ U.S. Digital Asset Stockpile เพื่อผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านนโยบายและนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
ผ่านมาแล้ว 53 วันสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุคที่สองของนาย Donald Trump ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนสูง โดยกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Magnificent 7) เนื่องจากนักลงทุนมีการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน (Sector Rotation) ไปในกลุ่ม Healthcare และ Consumer Staples ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่ม Defensive โดยตลาดมองว่า นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของ Trump 2.0 มีความไม่แน่นอนสูง
เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อตลาดหุ้นระหว่าง Trump 1.0 และ Trump 2.0 แนวคิด America First ยังคงเป็นแกนหลักของนโยบาย แต่บริบททางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันส่งผลให้การตอบสนองของตลาดต่างกัน บริบทปัจจุบันที่มีการขาดดุลงบประมาณสูงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงสร้างข้อจำกัดต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Trump 2.0
ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและภาษีในทั้งสองยุคเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความผันผวนให้ตลาด สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต้องปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมด้านนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยนโยบายในปัจจุบันของ Trump 2.0 มีความเข้มข้นและเชิงรุกมากกว่า แม้ในช่วงท้ายของ 100 วันแรกในสมัย Trump 1.0 ตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่ในระยะยาวกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชนะดัชนีหุ้นโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่สะท้อนนโยบายของ Trump ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
Source: Bloomberg, Goldman Sachs, BBC News, Fiscal Treasury